ประเด็นร้อน

ACT ออกจม.เปิดผนึกถึงผู้ว่ากทม.จี้ปฏิรูประบบการยื่นขอใบอนุญาตสร้างบ้านและอาคารให้โปร่งใส

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 28,2019

 

 

ACT ออกจม.เปิดผนึกถึงผู้ว่ากทม.จี้ปฏิรูประบบการยื่นขอใบอนุญาตสร้างบ้านและอาคารให้โปร่งใส ตัดตอนการเรียกรับสินบน  พร้อมเสนอ 7 แนวทางเปลี่ยนแปลงระบบและพฤติกรรมข้าราชการ เผยรายงานการศึกษาล่าสุด ของ ป.ป.ท.พบการทุจริตเรียกรับบสินบนในทุกขั้นตอน

 

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) หรือ ACT ออกจดหมายเปิดผนึกถึงพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่อง เรียกร้องให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ปฏิรูประบบการยื่นขอใบอนุญาตสร้างบ้านและอาคาร

โดยเนื้อหาในจดหมายระบุว่า

 

“จากรายงานผลการศึกษาล่าสุดเรื่อง รูปแบบการทุจริต กรณีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร  สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่ทำการศึกษาช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง เดือนมิถุนายน 2561 ระบุว่ามีกระบวนการเรียกรับสินบนเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนการยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างต่อเติมบ้านและอาคาร ตั้งแต่ก่อนการยื่นขอใบอนุญาต ที่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจรับ หรือไม่รับเรื่อง / ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง / และหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ


สอดคล้องกับข้อมูลจากการจัดการเสวนา “ใบอนุญาตก่อสร้าง ความสะดวกที่ต้องจ่าย...จริงหรือ” ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งมีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์สะท้อนว่า การไปยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างในกรุงเทพมหานครแต่ละครั้ง จะมีเจ้าหน้าที่เรียกไปพูดคุยเพื่อต่อรองเรื่อง “การแบ่งปันรายได้” โดยทุกอย่างขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ไม่มีมาตรฐานการอนุญาตอนุมัติที่ชัดเจนให้ถือปฏิบัติ แต่หากไม่อยากรอนานก็ต้องจ่ายเงิน ที่เรียกกันว่า “ค่าน้ำร้อนน้ำชา”หรือ “ค่าเสียเวลา”


ผลของพฤติกรรมที่ไม่ตรงไปตรงมาเหล่านี้ สร้างความเสื่อมเสียต่อองค์กรกรุงเทพมหานคร และเสื่อมเสียต่อเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นเรื่องที่เลวร้ายยิ่งกว่าคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะมันคือภาระที่ยุ่งยาก สิ้นเปลืองของประชาชน ขณะที่เงินสินบนจำนวนมาก กลายเป็นต้นทุนที่ทำให้บ้านและคอนโดมิเนียมมีราคาสูงขึ้น นอกจากนี้อาจก่อให้เกิดการก่อสร้างที่อันตรายและเอาเปรียบสังคมตามที่ปรากฎเป็นข่าว เช่น เครนก่อสร้าง หรืออาคารถล่ม มลภาวะจากฝุ่นละออง การก่อสร้างรุกล้ำที่สาธารณะ เป็นต้น


องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จึงขอเสนอแนวทางปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบงานการยื่นขอใบอนุญาตสร้างบ้านและอาคาร รวมทั้งพฤติกรรมของข้าราชการกรุงเทพมหานคร ดังนี้

 

1. ปฏิรูปการบริการประชาชน ในการยื่นขอใบอนุญาตสร้างบ้านสร้างอาคาร ตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกในการพิจารณาใบอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้ทุกหน่วยงานของรัฐต้องปรับปรุงการให้บริการประชาชนเมื่อไปติดต่อทำเรื่องขออนุญาตต่างๆ ให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว

 

2. นำหลักการขออนุญาตก่อสร้างอาคารหรือยื่นแจ้งฯ ผ่านคอมพิวเตอร์ หรือ e-Permit มาใช้อันจะมีผลทำให้การทุจริตคอรัปชันในส่วนของการพิจารณาการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารฯ หรือยื่นแจ้งไม่สามารถกระทำได้

 

3. กำหนดระยะเวลาในการอนุมัติออกใบอนุญาตก่อสร้างให้ชัดเจน หากพ้นกำหนดตามระยะเวลาให้แจ้งสาเหตุแห่งความล่าช้า

 

4. ให้มีหน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง “Third parties” หรือ “Out Source” เพื่อทำการตรวจสอบและรับรองแบบแปลนในขั้นตอนการพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้าง หรือต่อเจ้าหน้าที่เพื่อลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่และปิดโอกาสใช้อำนาจส่อไปในทางทุจริต

 

5. ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หารือกับสภาสถาปนิก และสภาวิศวกร เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการออกใบอนุญาตที่สะดวกรัดกุม ไม่เปิดโอกาสให้เรียกรับเงินได้

 

6. บังคับใช้กฎหมาย และเอาผิดอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดการเลี่ยงกฎหมาย

 

7. ให้จัดตั้ง One Stop Service เพื่อให้การทำงานต่างๆ รวดเร็วขึ้นตามที่ภาคเอกชนเสนอ เพื่อปลดล็อคสินบน และลดปัญหาการก่อสร้างไม่ปลอดภัย


องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ มุ่งสนับสนุนให้เกิดแนวทางการต่อต้านคอร์รัปชัน อย่างเป็นรูปธรรมทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน หวังว่ากรุงเทพมหานคร ในฐานะองค์กรที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่และคนกรุงเทพมหานครทั้งหมด ซึ่งไดประกาศนโยบายคุณธรรมและความโปร่งใสปราศจากการทุจริต จะสร้างการเปลี่ยนแปลงระบบงานบริการประชาชนและพฤติกรรมของข้าราชการ อันจะนำมาซึ่งความเชื่อมั่นว่าเป็นองค์กรแบบอย่างในการต่อต้านและปราบปรามการทุจริตมิชอบของประเทศตลอดไป”


**** สนง. ป.ป.ท. “การศึกษารูปแบบการทุจริต กรณีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในเขตกรุงเทพมหานคร”, 2561

http://bit.ly/2Xrfov8

 

 

 

#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw